Just another WordPress.com weblog

Archive for กันยายน, 2010

โรคพิษแห่งครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรม อย่างหนึ่งคือ โรคพิษแห่งครรภ์ หรือที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า “ครรภ์เป็นพิษ”

 โรคพิษแห่งครรภ์ คืออะไร
โรคนี้เป็นกลุ่มของโรค ที่มีอาการแสดงของความดันโลหิตสูงร่วมกับอาการบวม หรือปัสสาวะมีโปรตีน ซึ่งเกิดขึ้นได้ในสตรีตั้งครรภ์ ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยที่ความดันโลหิตสูง ในที่นี้หมายถึงความดันโลหิตที่มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท และอาการบวม หมายถึง บวมทั้งตัว หรือบวมบริเวณหน้า ท้อง และมือร่วมกัน

 สาเหตุของโรคครรภ์เป็นพิษ
สำหรับสาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือฮอร์โมนต่อมไร้ท่อบางตัว หรือจากกรรมพันธุ์ เพราะจะพบโรคนี้บ่อยใน การตั้งครรภ์แรก ตั้งครรภ์แฝด มีประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคครรภ์เป็นพิษ หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคไต เป็นต้น

 อันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์
โรคนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตในมารดา เพราะถ้าปล่อยให้โรคนี้เป็นรุนแรง มารดาจะมีอาการชัก หมดสติ หรือมีเลือดออกในสมองได้ รวมทั้งอัตราการตายของทารกก็สูงเช่นกัน เนื่องจากมีการคลอดก่อนกำหนด การขาดออกซิเจนเพราะรกเสื่อม หรือทารกมีการเจริญเติบโตชะงักงันในครรภ์ เป็นต้น

 อาการ
น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากสูติแพทย์ ก็จะเริ่มมีอาการบวม ต่อมาความดันโลหิตจะเริ่มสูง และท้ายสุดจะมีโปรตีนออกมาในปัสสาวะ อาการแสดงต่างๆ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มแรก หรือละเลยไม่มาฝากครรภ์ โรคจะทวีความรุนแรงขึ้นจนในที่สุดเป็นครรภ์เป็นพิษ ชนิดรุนแรง คุณแม่จะมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ จนกระทั่งชัก ลูกน้อยในครรภ์ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้การเจริญเติบโตชะงักงัน หรือรุนแรงถึงขั้นขาดออกซิเจน และเสียชีวิตได้ 

การป้องกัน
            เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ยังไม่ ในปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้แต่สูติแพทย์สามารถป้องกันมิให้โรครุนแรงเพิ่มขึ้น ถ้ามีการฝากครรภ์สม่ำเสมอ สูติแพทย์จะตรวจพบอาการที่น่าสงสัย พร้อมทั้งให้การวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ สตรีตั้งครรภ์ควรจะฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ และที่สำคัญคือ มาตรวจครรภ์ตามแพทย์นัดทุกครั้ง ถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น บวม ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว หรือจุกเสียด แน่นลิ้นปี่ ก็ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบหรือพบแพทย์ทันที

การรับประทานอาหาร

            แม้ว่าโรคนี้จะทำให้คุณแม่มีความดันโลหิตสูง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องงดอาหารเค็ม จะงดเค็มเฉพาะในรายที่เป็นความดันโลหิตสูงเรื้อรังมาก่อน

การรักษา

            ถ้าเป็นชนิดไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้นอนพักอย่างน้อยวันละ 8 – 10 ชั่วโมง เพราะการนอนพักจะช่วยให้การบวมยุบลง และความดันโลหิตลดลงด้วย นอกจากนี้แพทย์จะแนะนำให้มาตรวจครรภ์ถี่ขึ้น เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค และสุขภาพทารกในครรภ์ แต่ถ้าเป็นชนิดรุนแรง ซึ่งมีความดันโลหิตเพิ่มเป็น 160/110 มม.ปรอท ปัสสาวะมีโปรตีนอย่างน้อย 2+ มีอาการปวดศีรษะ ตามัว หรือจุกแน่นลิ้นปี่ แพทย์จำเป็นต้องให้นอนพักที่โรงพยาบาล เพื่อพิจารณาให้ยาลดความดันโลหิต หรือยากันชัก รวมทั้งพิจารณาให้คลอด ทั้งนี้เพราะถ้าปล่อยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป จะเป็นอันตรายทั้งต่อมารดา และทารกในครรภ์ได้

การพยากรณ์โรค

            ส่วนใหญ่แล้ว โรคนี้จะลดความรุนแรงลงจนหายไปใน 2 สัปดาห์หลังคลอด ( ยกเว้นใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ที่มารดาอาจมีภาวะชักเกิดขึ้นได้ ) การพยากรณ์โรคทั้งในมารดาและทารกจะดีมาก ถ้าเป็นครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง การฝากครรภ์ที่สม่ำเสมอ มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง มีความสำคัญและเป็นประโยชน์มากสำหรับการดูแลรักษาโรคนี้